Food Science and Technology Association of Thailand

  • Home
    • About Us
    • Committee
    • FoSTAT Annual Report
    • รูปภาพกิจกรรมของสมาคมฯ
  • Program
    • Award
      • Ajinomoto – FoSTAT Award
      • FoSTAT Recognition Award
      • Professional Development Award
    • Food Science and Technology professional standard
      • Certified Food Professional (CFoP)
      • มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิ
    • Conference and workshop
      • Food Innovation Asia Conference
      • Food Ingredients Asia Conference
    • Curriculum and scholarship
      • Curriculum Recognition
      • Agro-Industry Academic Council Association (AIAC)
    • FoSTAT – Nestlé Quiz Bowl (FNQB)
    • Food Innovation Contest (FIC)
    • Food Innovation & Regulation Network (FIRN)
    • Corporate Social Responsibility (CSR)
  • Training
    • Public Training
    • Food Safety Forum
    • FoSTAT-FDA Training
    • In-house Training
  • Consultation
    • Food Safety Consultation
    • Thai FDA License
  • Communication
  • Membership
    • Member drive
    • Career Center
  • Contact Us
  • Register
  • Login

นม : ความจริง ความชัง และความเชื่อ (ตอนที่ 1)


นม : ความจริง ความชัง และความเชื่อ (ตอนที่ 1)

ศ.ดร. วิสิฐ จะวะสิต

อาจารย์ประจำ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล


ความนำ


                 ในสังคมหลายส่วนของโลกที่มิใช่สังคมไทย นิยมบริโภคน้ำนมจากสัตว์มาแต่โบราณ โดยมนุษย์ในแถบยุโรปตะวันตกเริ่มดื่มน้ำนมโคมาประมาณ  ๑๐,๐๐๐  ปีที่ผ่านมา  นอกจากนี้วัฒนธรรมการดื่มน้ำนมสัตว์อื่นๆนอกจากโค ยังพบได้ในส่วนต่างๆของโลก เช่น แพะ ม้า อูฐ กระบือ ยัค  น้ำนมสัตว์จึงเป็นแหล่งโปรตีนและแคลเซียมที่สำคัญของมนุษย์หลายชนชาติมาหลายพันปีแล้วโดยส่วนใหญ่เป็นน้ำนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทเคี้ยวเอื้อง ตามธรรมชาติลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อแรกคลอดและยังได้รับน้ำนมจากแม่มักถูกปกป้องจุลินทรีย์ที่ดีและเป็นมิตรที่เรียกว่า "แบคทีเรียกรดแล็กติก" มิให้เจ็บป่วยง่ายจากสภาวะแวดล้อมที่ปนเปื้อน  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พญ. คุณสาคร ธนมิตต์ ซึ่งทำวิจัยระดับปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้ว พบว่าในทางเดินอาหารของทารกมนุษย์ที่ได้รับน้ำนมแม่ มีเชื้อแบคทีเรียกรดแล็กติกที่คอยปกป้องมิให้ทารกเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งในยุคโบราณที่ไม่มีระบบให้ความเย็น น้ำนมสัตว์ที่รีดออกมายังมีความปลอดภัยต่อการบริโภคจากการที่มีแบคทีเรียกรดแล็กติกจากแม่และลูกสัตว์เจริญในน้ำนมนั้นและป้องกันมิให้จุลินทรีย์ก่อโรคเจริญได้  นอกจากนั้นจากการเรียนรู้จากธรรมชาติมานับพันๆปีทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมสัตว์ที่หลากหลายนับพันชนิดตามบริบทของแต่ละท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภค


ความจริง


               น้ำนมสัตว์ที่นิยมบริโภคและมีการผลิตในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ได้แก่ น้ำนมโค ซึ่งมีการส่งเสริมให้เลี้ยงอย่างจริงจัง ในราวปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จากการที่มีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน  ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนมในประเทศมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  โดยมีการพัฒนาตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกและผสมพันธุ์  การเลี้ยงดู ตลอดจนการผลิต  อันทำให้ปัญหาคุณภาพและความปลอดภัยที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหมดไปและได้นำอุตสาหกรรมนมในประเทศไทยส่วนหนึ่งสามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพและความปลอดภัยในระดับสากลหรือที่เรียกว่า “นมพรีเมี่ยม” ตามมาตรฐานระดับสูงที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข  เพื่อท้าทายการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมนมไทย ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นมของประเทศไทยสามารถส่งออกเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน

ในทางโภชนาการ น้ำนมโคจัดเป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญที่ยากจะหาอาหารอื่นมาเทียบเทียมได้ นั่นคือ โปรตีนและธาตุแคลเซียม

โปรตีน ที่พบในน้ำนมมีปริมาณร้อยละ ๓.๓ – ๓.๕ และเป็นโปรตีนที่มีองค์ประกอบของกรดอะมิโนจำเป็นชนิดที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม  โปรตีนนมจึงเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกและใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบกับโปรตีนชนิดอื่น  กล่าวคือโปรตีนนมมีคุณภาพเต็มร้อยนั่นเอง  หากดื่มนมเพียง ๒๐๐ ซีซี เด็กนักเรียนก็จะได้รับโปรตีนคุณภาพดีเยี่ยมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายต่อวันถึง ร้อยละ ๒๐-๔๐ แล้ว ส่วนในผู้ใหญ่จะได้ถึงประมาณร้อยละ ๑๔ ของความต้องการต่อวัน 

แคลเซียม ที่พบในน้ำนมมีปริมาณประมาณ ๑๒๕ มก. ต่อ ๑๐๐ ซีซี จัดเป็นแคลเซียมคุณภาพดีเยี่ยม ที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย เนื่องจากน้ำนมมีสัดส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสที่เหมาะสม  หากดื่มน้ำนมเพียง ๒๐๐ ซีซี เด็กเล็กจะได้แคลเซียมที่เพียงพอถึงร้อยละ ๓๕ ของความต้องการต่อวัน และเด็กโตและผู้ใหญ่จะเพียงพอถึงร้อยละ ๒๕ ของความต้องการต่อวัน

หากเราต้องการแสวงหาอาหารธรรมชาติที่สะดวกบริโภค ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยโปรตีนคุณภาพเยี่ยมและแคลเซียมที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ยังไม่มีอาหารธรรมชาติชนิดใดในโลกที่สามารถเปรียบเทียบกับน้ำนมได้เลย

สารอาหารอื่นๆที่สำคัญในน้ำนม

น้ำตาลในน้ำนมโค มีประมาณร้อยละ ๕ จัดเป็นสารอาหารที่มีปริมาณสูงที่สุด ชนิดของน้ำตาลในน้ำนมคือแล็กโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่คล้ายซูโครส (น้ำตาลทราย) เมื่อร่างกายย่อยแล้วจะได้กลูโคสและกาแล็กโทส ที่ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานได้  ทำให้สดชื่นด้วย  เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลที่เราใช้กันจนคุ้นเคย ได้แก่ ซูโครสและกลูโคส น้ำตาลแล็กโทสมีความหวานน้อยกว่ามาก น้ำนมตามธรรมชาติจึงมีเพียงรสหวานอ่อนๆเท่านั้น  ซึ่งเด็กเล็กที่บริโภคน้ำนมธรรมชาติ ย่อมไม่ติดนิสัยบริโภครสหวานตั้งแต่เล็กและไม่ก่อปัญหาสุขภาพเมื่อเติบใหญ่  ปริมาณน้ำตาลในน้ำนมต่ำกว่าในเครื่องดื่มปกติที่จำหน่ายในท้องตลาดประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้โอกาสที่ก่อให้เกิดผลเสียงต่อสุขภาพต่ำกว่ามาก  การดื่มน้ำนม ๒๐๐ ซีซี ให้น้ำตาลเพียงร้อยละ ๒๐ ของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่ให้บริโภคเกิน (ไม่ควรเกิน ๕๐ กรัม ต่อวัน)

ไขมันในน้ำนม มีประมาณร้อยละ ๔ เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่ได้จากการดื่มน้ำนม เนื่องจากน้ำนมเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ จึงมักพบกรดไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอล อย่างไรก็ตาม กรดไขมันอิ่มตัวในน้ำนมมีประมาณร้อยละ ๒ และโคเลสเตอรอลมีเพียง ๑๐ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ ซีซี ซึ่งการดื่มนม ๒๐๐ ซีซี ให้กรดไขมันอิ่มตัวเพียงร้อยละ ๒๐ และให้โคเลสเตอรอล เพียงร้อยละ ๗  ของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่ให้บริโภคเกิน (ไม่ควรเกิน ๒๐ กรัมและ ๓๐๐ มิลลิกรัม ต่อวัน ตามลำดับ) น้ำนมจึงไม่ใช่แหล่งของโคเลสเตอรอลที่น่ากลัวตามที่หลายๆคนเข้าใจกัน 

วิตามิน ที่พบในน้ำนมโคตามธรรมชาติ ได้แก่ วิตามิน เอ บี๑๒ และไรโบเฟลวิน  ซึ่งจะคงอยู่มากกว่า หากน้ำนมไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ใช้ความร้อนสูงเกินไป ส่วนวิตามินเอละลายอยู่ในส่วนที่เป็นไขมัน ซึ่งจะมีปริมาณลดลงในประเภทไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน

ดื่มน้ำนมเพิ่มขึ้นรับประกันว่าได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อวันเพิ่มขึ้น 

คนไทยดื่มน้ำนมโดยเฉลี่ยเพียงวันละ ๓๐ ซีซี (๑๘ ลิตรต่อคน ต่อปี) ซึ่งหมายถึงคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ดื่มน้ำนมเลยและอีกส่วนใหญ่ไม่ได้ดื่มน้ำนมทุกวัน  ซึ่งแตกต่างจากคนสิงคโปร์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเราที่ดื่มน้ำนมถึง ๖๒ ลิตรต่อคนต่อปี หากเพียงคนไทยทุกคนดื่มน้ำนมเพียงวันละ ๒๐๐ ซีซีทุกวัน  ก็จะสามารถรับประกันว่าเราจะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์และหาได้ยากจากอาหารแหล่งอื่นในระดับหนึ่ง  ซึ่งหากเพิ่มการบริโภคน้ำนมได้ถึงวันละ ๒ แก้ว (๔๐๐ ซีซี) ก็จะทำให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์หลายชนิดในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและใกล้เคียงกับความต้องการต่อวันมากขึ้น

PR NEWS


  • นม : ความจริง ความชัง และความเชื่อ (ตอนที่ 3) April 07, 2021

  • นม : ความจริง ความชัง และความเชื่อ (ตอนที่ 2) April 07, 2021

  • นม : ความจริง ความชัง และความเชื่อ (ตอนที่ 1) April 07, 2021

  • -Update ประกาศกระทรวงฉบับใหม่ล่าสุด (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563- February 22, 2021

  • เลือก OEM เพื่อผลิตอาหารยังไงดีนะ ? January 19, 2021

  • SITEMAP

  • Program
    • Award
      • Ajinomoto – FoSTAT Award
    • Food Science and Technology Professional Standard
      • Certified Food Professional (CFoP)
      • มาตรฐานและคุณวุฒิวิชาชีพ
    • Conference and workshop
      • Food Innovation Asia Conference
      • Food Ingredients Asia Conference
    • Curriculum and scholarship
      • Curriculum Recognition
      • Agro-Industry Academic Council Association (AIAC)-Industry Academic Council Association (AIAC)Food Ingredients Asia Conference
    • FoSTAT – Nestlé Quiz Bowl (FNQB)
    • Food Innovation Contest (FIC)


  • Home
    • About Us
    • Committee
    • Gallery
  • Training
  • Communication
  • Membership
    • Membership drive
    • Career Center
  • Contact Us

  • ห้อง 722 อาคารอมรภูมิรัตน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

    02 9428 528 | 08 3908 0797

    pr@fostat.org

    สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT)

Copyright © 2016 FoSTAT

Please wait...