นม : ความจริง ความชัง และความเชื่อ (ตอนที่ 2)
ศ.ดร. วิสิฐ จะวะสิต
อาจารย์ประจำ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ความชัง
กระแสความชังที่ ๑
การทำปศุสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค สร้างสภาวะเรือนกระจกและมีส่วนที่ทำให้โลกร้อน ทั้งนี้ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวประเภทธัญพืช ที่เป็นอาหารของโค ก็มีผลในการสร้างสภาวะเรือนกระจกอยู่แล้ว และเมื่อนำไปเลี้ยงโคที่เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ก็ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นจากก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่โคผายลมออกมาทำให้การทำปศุสัตว์และการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้รับการต่อต้านจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมบางองค์กร
ดังนั้น การฟาร์มโคนมในบ้านเราหลายแห่งจึงพ่วงด้วยการทำไบโอก๊าซ เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ที่มีส่วนหลักในการสร้างสภาวะเรือนกระจกเช่นกัน
กระแสความชังที่ ๒
การเลี้ยงโคแบบจำกัดพื้นที่เป็นการคุกคามสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมักพบมากในฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งแม่โคถูกจำกัดพื้นที่ตลอดเวลา เพื่อให้ใช้พื้นที่คุ้มค่าที่สุด แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯมองว่าเป็นการทารุณสัตว์และสร้างความเครียดให้สัตว์ ความเครียดของสัตว์นำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็นและปนเปื้อนในน้ำนม
ฟาร์มโคนมหลายแห่งในโลก รวมทั้งในประเทศไทย ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงโคแบบปล่อยทุ่ง (free ranch) มากขึ้น
กระแสความชังที่ ๓
ธุรกิจโคนมดั้งเดิมในต่างประเทศนิยมกำจัดลูกโคตัวผู้แรกคลอดทิ้งไป ด้วยเหตุผลหลัก ๒ ประการ คือ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเพราะไม่ให้น้ำนมได้ และเพื่อนำน้ำย่อยจากกระเพาะที่สี่ของลูกวัวก่อนหย่านมมาใช้ในการผลิต เนยแข็ง การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากหน่วยงานคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์
ปัจจุบันฟาร์มโคนมในประเทศไทยมิได้ดำเนินการดังกล่าว แต่ได้เลี้ยงลูกโคนมตัวผู้ตนเติบใหญ่และใช้ตามวัตถุประสงค์อื่น
กระแสความชังที่ ๔
การทำสัญญาเขตการค้าเสรีกับประเทศผู้ผลิตน้ำนมรายใหญ่ของโลก ย่อมมีผลให้ผลิตภัณฑ์นมผงที่มีราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าเข้ามาตีตลาดน้ำนมท้องถิ่น จนอาจทำให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมนมในประเทศได้รับผลกระทบในเชิงลบ
รัฐบาลจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบนี้และคนไทยต้องดื่นน้ำนมที่ผลิตโดยเกษตรกรไทยให้มากขึ้น