Food Science and Technology Association of Thailand

  • Home
    • About Us
    • Committee
    • FoSTAT Annual Report
    • รูปภาพกิจกรรมของสมาคมฯ
  • Activities
    • Award
      • Ajinomoto – FoSTAT Award
      • FoSTAT Recognition Award
      • Professional Development Award
    • Food Science and Technology professional standard
      • Certified Food Professional (CFoP)
      • มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิ
    • Conference and workshop
      • Food Innovation Asia Conference
      • Food Ingredients Asia Conference
    • Curriculum and scholarship
      • Curriculum Recognition
      • Agro-Industry Academic Council Association (AIAC)
    • FoSTAT – Nestlé Quiz Bowl (FNQB)
    • Food Innovation Contest (FIC)
    • Food Innovation & Regulation Network (FIRN)
    • Corporate Social Responsibility (CSR)
  • Training
    • Public Training
    • Food Safety Forum
    • FoSTAT-FDA Training
    • In-house Training
  • Consultation
    • Food Safety Consultation
    • Thai FDA License
  • News & Articles
  • Membership
    • Member drive
    • Career Center
  • Contact Us

นม : ความจริง ความชัง และความเชื่อ


นม : ความจริง ความชัง และความเชื่อ (ตอนที่ 1)

ศ.ดร. วิสิฐ จะวะสิต

อาจารย์ประจำ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล


ความนำ


                 ในสังคมหลายส่วนของโลกที่มิใช่สังคมไทย นิยมบริโภคน้ำนมจากสัตว์มาแต่โบราณ โดยมนุษย์ในแถบยุโรปตะวันตกเริ่มดื่มน้ำนมโคมาประมาณ  ๑๐,๐๐๐  ปีที่ผ่านมา  นอกจากนี้วัฒนธรรมการดื่มน้ำนมสัตว์อื่นๆนอกจากโค ยังพบได้ในส่วนต่างๆของโลก เช่น แพะ ม้า อูฐ กระบือ ยัค  น้ำนมสัตว์จึงเป็นแหล่งโปรตีนและแคลเซียมที่สำคัญของมนุษย์หลายชนชาติมาหลายพันปีแล้วโดยส่วนใหญ่เป็นน้ำนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทเคี้ยวเอื้อง ตามธรรมชาติลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อแรกคลอดและยังได้รับน้ำนมจากแม่มักถูกปกป้องจุลินทรีย์ที่ดีและเป็นมิตรที่เรียกว่า "แบคทีเรียกรดแล็กติก" มิให้เจ็บป่วยง่ายจากสภาวะแวดล้อมที่ปนเปื้อน  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พญ. คุณสาคร ธนมิตต์ ซึ่งทำวิจัยระดับปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้ว พบว่าในทางเดินอาหารของทารกมนุษย์ที่ได้รับน้ำนมแม่ มีเชื้อแบคทีเรียกรดแล็กติกที่คอยปกป้องมิให้ทารกเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งในยุคโบราณที่ไม่มีระบบให้ความเย็น น้ำนมสัตว์ที่รีดออกมายังมีความปลอดภัยต่อการบริโภคจากการที่มีแบคทีเรียกรดแล็กติกจากแม่และลูกสัตว์เจริญในน้ำนมนั้นและป้องกันมิให้จุลินทรีย์ก่อโรคเจริญได้  นอกจากนั้นจากการเรียนรู้จากธรรมชาติมานับพันๆปีทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมสัตว์ที่หลากหลายนับพันชนิดตามบริบทของแต่ละท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภค


ความจริง


               น้ำนมสัตว์ที่นิยมบริโภคและมีการผลิตในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ได้แก่ น้ำนมโค ซึ่งมีการส่งเสริมให้เลี้ยงอย่างจริงจัง ในราวปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จากการที่มีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน  ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนมในประเทศมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  โดยมีการพัฒนาตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกและผสมพันธุ์  การเลี้ยงดู ตลอดจนการผลิต  อันทำให้ปัญหาคุณภาพและความปลอดภัยที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหมดไปและได้นำอุตสาหกรรมนมในประเทศไทยส่วนหนึ่งสามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพและความปลอดภัยในระดับสากลหรือที่เรียกว่า “นมพรีเมี่ยม” ตามมาตรฐานระดับสูงที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข  เพื่อท้าทายการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมนมไทย ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นมของประเทศไทยสามารถส่งออกเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน

ในทางโภชนาการ น้ำนมโคจัดเป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญที่ยากจะหาอาหารอื่นมาเทียบเทียมได้ นั่นคือ โปรตีนและธาตุแคลเซียม

โปรตีน ที่พบในน้ำนมมีปริมาณร้อยละ ๓.๓ – ๓.๕ และเป็นโปรตีนที่มีองค์ประกอบของกรดอะมิโนจำเป็นชนิดที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม  โปรตีนนมจึงเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกและใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบกับโปรตีนชนิดอื่น  กล่าวคือโปรตีนนมมีคุณภาพเต็มร้อยนั่นเอง  หากดื่มนมเพียง ๒๐๐ ซีซี เด็กนักเรียนก็จะได้รับโปรตีนคุณภาพดีเยี่ยมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายต่อวันถึง ร้อยละ ๒๐-๔๐ แล้ว ส่วนในผู้ใหญ่จะได้ถึงประมาณร้อยละ ๑๔ ของความต้องการต่อวัน 

แคลเซียม ที่พบในน้ำนมมีปริมาณประมาณ ๑๒๕ มก. ต่อ ๑๐๐ ซีซี จัดเป็นแคลเซียมคุณภาพดีเยี่ยม ที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย เนื่องจากน้ำนมมีสัดส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสที่เหมาะสม  หากดื่มน้ำนมเพียง ๒๐๐ ซีซี เด็กเล็กจะได้แคลเซียมที่เพียงพอถึงร้อยละ ๓๕ ของความต้องการต่อวัน และเด็กโตและผู้ใหญ่จะเพียงพอถึงร้อยละ ๒๕ ของความต้องการต่อวัน

หากเราต้องการแสวงหาอาหารธรรมชาติที่สะดวกบริโภค ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยโปรตีนคุณภาพเยี่ยมและแคลเซียมที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ยังไม่มีอาหารธรรมชาติชนิดใดในโลกที่สามารถเปรียบเทียบกับน้ำนมได้เลย

สารอาหารอื่นๆที่สำคัญในน้ำนม

น้ำตาลในน้ำนมโค มีประมาณร้อยละ ๕ จัดเป็นสารอาหารที่มีปริมาณสูงที่สุด ชนิดของน้ำตาลในน้ำนมคือแล็กโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่คล้ายซูโครส (น้ำตาลทราย) เมื่อร่างกายย่อยแล้วจะได้กลูโคสและกาแล็กโทส ที่ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานได้  ทำให้สดชื่นด้วย  เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลที่เราใช้กันจนคุ้นเคย ได้แก่ ซูโครสและกลูโคส น้ำตาลแล็กโทสมีความหวานน้อยกว่ามาก น้ำนมตามธรรมชาติจึงมีเพียงรสหวานอ่อนๆเท่านั้น  ซึ่งเด็กเล็กที่บริโภคน้ำนมธรรมชาติ ย่อมไม่ติดนิสัยบริโภครสหวานตั้งแต่เล็กและไม่ก่อปัญหาสุขภาพเมื่อเติบใหญ่  ปริมาณน้ำตาลในน้ำนมต่ำกว่าในเครื่องดื่มปกติที่จำหน่ายในท้องตลาดประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้โอกาสที่ก่อให้เกิดผลเสียงต่อสุขภาพต่ำกว่ามาก  การดื่มน้ำนม ๒๐๐ ซีซี ให้น้ำตาลเพียงร้อยละ ๒๐ ของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่ให้บริโภคเกิน (ไม่ควรเกิน ๕๐ กรัม ต่อวัน)

ไขมันในน้ำนม มีประมาณร้อยละ ๔ เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่ได้จากการดื่มน้ำนม เนื่องจากน้ำนมเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ จึงมักพบกรดไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอล อย่างไรก็ตาม กรดไขมันอิ่มตัวในน้ำนมมีประมาณร้อยละ ๒ และโคเลสเตอรอลมีเพียง ๑๐ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ ซีซี ซึ่งการดื่มนม ๒๐๐ ซีซี ให้กรดไขมันอิ่มตัวเพียงร้อยละ ๒๐ และให้โคเลสเตอรอล เพียงร้อยละ ๗  ของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่ให้บริโภคเกิน (ไม่ควรเกิน ๒๐ กรัมและ ๓๐๐ มิลลิกรัม ต่อวัน ตามลำดับ) น้ำนมจึงไม่ใช่แหล่งของโคเลสเตอรอลที่น่ากลัวตามที่หลายๆคนเข้าใจกัน 

วิตามิน ที่พบในน้ำนมโคตามธรรมชาติ ได้แก่ วิตามิน เอ บี๑๒ และไรโบเฟลวิน  ซึ่งจะคงอยู่มากกว่า หากน้ำนมไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ใช้ความร้อนสูงเกินไป ส่วนวิตามินเอละลายอยู่ในส่วนที่เป็นไขมัน ซึ่งจะมีปริมาณลดลงในประเภทไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน

ดื่มน้ำนมเพิ่มขึ้นรับประกันว่าได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อวันเพิ่มขึ้น 

คนไทยดื่มน้ำนมโดยเฉลี่ยเพียงวันละ ๓๐ ซีซี (๑๘ ลิตรต่อคน ต่อปี) ซึ่งหมายถึงคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ดื่มน้ำนมเลยและอีกส่วนใหญ่ไม่ได้ดื่มน้ำนมทุกวัน  ซึ่งแตกต่างจากคนสิงคโปร์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเราที่ดื่มน้ำนมถึง ๖๒ ลิตรต่อคนต่อปี หากเพียงคนไทยทุกคนดื่มน้ำนมเพียงวันละ ๒๐๐ ซีซีทุกวัน  ก็จะสามารถรับประกันว่าเราจะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์และหาได้ยากจากอาหารแหล่งอื่นในระดับหนึ่ง  ซึ่งหากเพิ่มการบริโภคน้ำนมได้ถึงวันละ ๒ แก้ว (๔๐๐ ซีซี) ก็จะทำให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์หลายชนิดในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและใกล้เคียงกับความต้องการต่อวันมากขึ้น

ความชัง


             การที่อุตสาหกรรมนมในโลกมีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง  ย่อมมีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งผู้บริโภคก็ควรมีสิทธิที่ต้องได้รับทราบถึงปัญหาเหล่านั้น รวมถึงแนวทางการแก้ไขต่างๆของภาคอุตสาหกรรมเพื่อมิให้กระแสความชังที่หน่วยงานเอ็นจีโอบางแห่งสร้างขึ้น มากลบความรู้สึกที่ต้องการบริโภคน้ำนม จึงขอยกตัวอย่างกระแสความชังที่เกิดขึ้นให้ได้ทราบกันพอสังเขป

กระแสความชังที่  ๑

การทำปศุสัตว์  โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค สร้างสภาวะเรือนกระจกและมีส่วนที่ทำให้โลกร้อน ทั้งนี้ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวประเภทธัญพืช ที่เป็นอาหารของโค ก็มีผลในการสร้างสภาวะเรือนกระจกอยู่แล้ว และเมื่อนำไปเลี้ยงโคที่เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ก็ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นจากก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่โคผายลมออกมาทำให้การทำปศุสัตว์และการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้รับการต่อต้านจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมบางองค์กร 

ดังนั้น การฟาร์มโคนมในบ้านเราหลายแห่งจึงพ่วงด้วยการทำไบโอก๊าซ เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ที่มีส่วนหลักในการสร้างสภาวะเรือนกระจกเช่นกัน

กระแสความชังที่ ๒

การเลี้ยงโคแบบจำกัดพื้นที่เป็นการคุกคามสวัสดิภาพสัตว์  ซึ่งมักพบมากในฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งแม่โคถูกจำกัดพื้นที่ตลอดเวลา  เพื่อให้ใช้พื้นที่คุ้มค่าที่สุด แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯมองว่าเป็นการทารุณสัตว์และสร้างความเครียดให้สัตว์ ความเครียดของสัตว์นำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็นและปนเปื้อนในน้ำนม

ฟาร์มโคนมหลายแห่งในโลก รวมทั้งในประเทศไทย  ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงโคแบบปล่อยทุ่ง (free ranch) มากขึ้น

กระแสความชังที่ ๓

ธุรกิจโคนมดั้งเดิมในต่างประเทศนิยมกำจัดลูกโคตัวผู้แรกคลอดทิ้งไป ด้วยเหตุผลหลัก ๒ ประการ คือ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเพราะไม่ให้น้ำนมได้ และเพื่อนำน้ำย่อยจากกระเพาะที่สี่ของลูกวัวก่อนหย่านมมาใช้ในการผลิต เนยแข็ง การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากหน่วยงานคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์

ปัจจุบันฟาร์มโคนมในประเทศไทยมิได้ดำเนินการดังกล่าว แต่ได้เลี้ยงลูกโคนมตัวผู้ตนเติบใหญ่และใช้ตามวัตถุประสงค์อื่น

กระแสความชังที่ ๔

การทำสัญญาเขตการค้าเสรีกับประเทศผู้ผลิตน้ำนมรายใหญ่ของโลก  ย่อมมีผลให้ผลิตภัณฑ์นมผงที่มีราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าเข้ามาตีตลาดน้ำนมท้องถิ่น จนอาจทำให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมนมในประเทศได้รับผลกระทบในเชิงลบ

รัฐบาลจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบนี้และคนไทยต้องดื่นน้ำนมที่ผลิตโดยเกษตรกรไทยให้มากขึ้น


ความเชื่อ

            จากกระแสความชังและความไม่เข้าใจในความจริงบางประเด็นทำให้เกิดกระแสความเชื่อ ที่ทำให้คนบางกลุ่มลังเลที่จะดื่มน้ำนมในชีวิตประจำวัน ซึ่งความเชื่อเหล่านั้นไม่ควรเป็นประเด็นในการปฏิเสธการดื่มน้ำนม  จึงขอนำเสนอตัวอย่างของความเชื่อและคำอธิบายเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

กระแสความเชื่อข้อที่  ๑ : อาการท้องอืดและท้องเสียจากการดื่มน้ำนมเกิดจากการแพ้น้ำนม จึงทำให้ไม่สามารถดื่มนมได้

แก้ความเชื่อ : การแพ้น้ำนมคือการแพ้โปรตีนในน้ำนม ซึ่งจัดเป็น allergy ประเภทหนึ่ง โดยปกติตรวจพบตั้งแต่แรกเกิดทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูด้วยน้ำนมแม่หรือน้ำนมสัตว์ได้ หากได้รับโปรตีนนม มักมีอาการตอบสนองที่รุนแรง เช่น เป็นผื่นแดง หายใจติดขัด และอาจเสียชีวิตได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น การแพ้โปรตีนนมพบได้น้อยมากในคนไทย โดยผู้ป่วยมักรู้ตัวเองและหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมตั้งแต่เยาว์วัย ส่วนอาการท้องอืดและท้องเสียจากการดื่มน้ำนมมิใช่การแพ้ (allergy) แต่เกิดจากร่างกายหยุดการสร้างเอ็นไซม์แล็กเทส เมื่อเจริญวัยขึ้นทำให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาแล็กโทสในน้ำนมได้  น้ำตาลแล็กโทสที่ไม่ถูกย่อยและส่งต่อไปยังลำไส้จึงถูกส่งไปให้จุลินทรีย์ในลำไส้ย่อยและมักสร้างกรดและก๊าซ  ทำให้ผู้ที่มีปัญหานี้มีอาการท้องอืด ท้องเสีย  อาการนี้จึงมิใช่อาการแพ้อาหารแต่เป็นการขาดความสามารถในการย่อยน้ำตาลแล็กโทส (lactose intolerance) ซึ่งไม่มีอันตราย และคล้ายกับคนที่กินถั่วแล้วผายลม

การที่มีอาการไม่ย่อยน้ำตาลแล็กโทสในน้ำนมมิใช่ข้ออ้างที่ไม่ดื่มนมไม่ว่าในวัยไหน เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นมประเภทนมเปรี้ยวที่ใช้แบคทีเรียสุขภาพช่วยย่อยน้ำตาลแล็กโทสจนหมด  หากไม่ชอบรสเปรี้ยว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์น้ำนมโคปราศจากน้ำตาลแล็กโทสจำหน่าย  โดยผู้ผลิตเติมเอ็นไซม์แล็กเทสลงไปย่อยน้ำตาลแล็กโทสในน้ำนมก่อนนำมาแปรรูปซึ่งน้ำนมปราศจากแล็กโทสมีรสหวานกว่าน้ำนมธรรมชาติจากน้ำแล็กโทสที่ถูกย่อยแล้วเป็นน้ำตาลกลูโคสและกาแล็กโทสดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

กระแสความเชื่อข้อที่ ๒ : การดื่มน้ำนมเป็นประจำทำให้ดื้อยาปฏิชีวนะจากยาปฏิชีวนะที่ปนเปื้อนจากแม่โคผ่านน้ำนม

แก้ความเชื่อ : เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่ อาจเป็นความจริง เพราะเกษตรกรบางรายใช้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหารแม่โคเพื่อป้องกันโรคเต้านมอักแสบ (mastitis) ซึ่งเคยเป็นแนวปฏิบัติในต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อแม่โคถูกเลี้ยงดูในพื้นที่จำกัดที่มีความเครียด  แต่ปัจจุบันการเลี้ยงดูแบบปล่อยทุ่ง การใช้หลักการดูแลด้านโภชนาการและสุขภาพที่ใกล้ชิดตามแนวทาง   นมพรีเมี่ยมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำนมดิบและผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่เกิดขึ้นแล้ว

กระแสความเชื่อข้อที่ ๓ : กินน้ำนมกับเนื้อสัตว์ไม่ได้

แก้ความเชื่อ : การห้ามกินเนื้อสัตว์ร่วมกับน้ำนมหรือผลิตภัณฑ์นมเป็นเหตุผลด้านศีลธรรมด้านศาสนามากกว่าอันตรายต่อสุขภาพ  เนื่องจากการฆ่าลูกโคตัวผู้ที่เพิ่งแรกคลอดตามแนวปฏิบัติของฟาร์มโคนม ทำให้เกรงว่าเนื้อของลูกโคไปบริโภคพร้อมกับน้ำนมที่ควรจะเป็นอาหารของมัน  การกระทำดังกล่าวนับว่าโหดร้ายดามความเชื่อในศาสนายิว จึงเป็นข้อห้ามที่สืบมามิได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย



กระแสความเชื่อข้อที่ ๔ : ดื่มนมข้าว นมถั่ว นมนัดทดแทนน้ำนมโคได้

แก้ความเชื่อ : คุณภาพของโปรตีนในข้าวและถั่วซึ่งเป็นโปรตีนจากพืชมีคุณภาพด้อยกว่าโปรตีนในน้ำนมซึ่งเป็นโปรตีนจากสัตว์  การใช้ทดแทนกันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและตรงไปตรงมา  ดังนั้น ผลิตภัณฑ์นมข้าว นมถั่ว และนมนัดที่อาจผลิตขึ้นมาให้มีปริมาณโปรตีนเท่าน้ำนมโค จะให้ประโยชน์ต่อร่างกายที่ด้อยกว่า เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของกรดอะมิโนจำเป็น เช่น โปรตีนข้าวและข้าวสาลีขาดไลซีน โปรตีนถั่วขาดเม   ไทโอนีน ดังนั้น  การที่จะได้นมข้าว นมถั่วที่มีคุณภาพโปรตีนทัดเทียมน้ำนมโค จำเป็นต้องผสมโปรตีนพืชจากแหล่งต่างๆในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม มิใช่ กินแต่นมที่ทำจากธัญพืชหรือถั่วชนิดนั้นอย่างเดียว แล้วเพียงพอ

กระแสความเชื่อข้อที่ ๕ : การดื่มนมโคแล้วเกิดมะเร็ง
แก้ความเชื่อ : ผลการวิเคราะห์เอกสารงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (systematic reviews) พบว่าการตรวจสอบงานวิจัยหลายสิบชิ้นตามคุณภาพของงาน ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภค นมและผลิตภัณฑ์ ต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งต่อมไทรอยด์และมะเร็งเม็ดโลหิตขาว  ความเชื่อนี้เกิดขึ้นตามสื่อออนไลน์บ่อยมากและสร้างความสับสันให้ผู้บริโภค  การที่มีนักวิจัยทำการวิเคราะห์เอกสารงานวิจัยต่างๆในอดีต จึงนับว่าเป็นข้อสรุปที่สิ้นสุดดังที่กล่าว

กระแสความเชื่อข้อที่ ๖ : ดื่มน้ำนมโคและเกิดโรคปาร์กินสัน

แก้ความเชื่อ : สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคปาร์กินสันยังไม่มีใครทราบ จึงมีการศึกษาในเชิงระบาดวิทยาเพื่อพยายามหาความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการบริโภคของผู้ป่วยกับการเกิดโรค ซึ่งการศึกษานั้นทำในสังคมที่บริโภคน้ำนมโคในปริมาณมากเป็นเวลานานและพบว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อบริโภคน้ำนมเพิ่มขึ้นจากเดิม ๒๐๐ กรัมต่อวัน โดยอาจเกิดกับคนเพียง ๒ – ๔ คนในคนป่วย ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งผลการวิเคราะห์เอกสารงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (systematic reviews) ก็ยังไม่ระบุว่า ยังไม่สามารถสรุปอย่างชัดเจนได้ ปัญหาดังกล่าวจึงยังไม่มีข้อสรุปที่เชื่อถือได้และไม่สามารถนำผลสรุปมาใช้ในสังคมไทยที่ยังมีอัตราการบริโภคน้ำนมที่ต่ำมาก

กระแสความเชื่อข้อที่ ๗ : นมผงมีคุณภาพสู้น้ำนมโคสดไม่ได้

แก้ความเชื่อ : การผลิตนมผงมักดำเนินการในประเทศที่มีการผลิตน้ำนมในปริมาณที่มากกว่าที่สามารถบริโภคได้ในประเทศตนเอง ซึ่งเป็นการถนอมรักษาที่ทำให้เก็บได้นานและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและขนส่ง  การผลิตนมผงให้ได้คุณภาพดี (รสชาติไม่เปลี่ยนแปลงมากและละลายง่าย) ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาแพงจึงไม่คุ้มกับการลงทุนในประเทศไทยที่ยังมีการผลิตน้ำนมดับในปริมาณไม่มากนัก นมผงที่มาจากต่างประเทศมักมีราคาต้นทุนที่ต่ำกว่านมสดที่ผลิตภายในประเทศ ทำให้ต้องมีการจำกัดการนำเข้าเพื่อช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้ เมื่อเปรียบเทียบน้ำนมโคสด นมผงมีคุณค่าโภชนาการด้อยกว่าเล็กน้อยจากการที่โปรตีนส่วนน้อยมากเปลี่ยนสภาพจากความร้อน การเปลี่ยนแปลงนี้กลับมีผลให้นมผงมีรสชาติคล้ายนมต้มมากขึ้น ขาดรสชาติความสดไป สิ่งที่ขาดหายไปคือ วิตามินในน้ำนมสดธรรมชาติที่สลายตัวไปกับความร้อน อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยเหล่านี้ในทางโภชนาการนับว่าไม่รุนแรงเพราะสารอาหารหลักที่คาดหวังจากการดื่มน้ำนมยังคงอยู่และที่สูญเสียไปก็สามารถทดแทนด้วยการเสริมลงไปได้ ยกเว้น รสชาติความสด การที่สรุปว่าคุณภาพด้านโภชนาการของนมผงด้อยกว่า จึงไม่จริง ข้อจำกัดของการใช้นมผงที่นับเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดของโลก ได้แก่ การปลอดปนสารเมลามีนลงในนมผงในประเทศจีนเพื่อลดต้นทุนซึ่งมีผลทำให้ทารกตายหลายคน  อีกทั้งยังมีการซื้อนมผงจากประเทศจีนไปผสมและจำหน่ายในนามประเทศอื่น ทำให้การเฝ้าระวังติดตามทำได้ยากขึ้น  ทั้งนี้การที่รัฐบาลอนุญาตให้นำนมผงเข้ามาผลิตเป็นน้ำนมพร้อมดื่มและแข่งขันกับน้ำนมที่ผลิตภายในประเทศที่ต้นทุนต่อหน่วยที่สูงกว่าอาจสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรและมีผลต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมนมในประเทศไทย ดังนั้น จึงเป็นบทบาทของคนไทยที่ต้องช่วยกันสนับสนุนน้ำนมที่ผลิตภายในประเทศเพื่อเกษตรกรไทย

สรุปความ
ผู้บริโภคในยุคดิจิตอลต้องสับสนจากข้อมูลที่เกิดความไม่รู้จริงมาปนเปกับความชังและความเชื่อ จนไม่อยากจะดื่มน้ำนมที่เป็นแหล่งสารอาหารสะดวกบริโภคที่มีคุณค่าทางโภชนาการยากที่จะหาอาหารธรรมชาติใดมาเปรียบเทียบได้ ข้อมูลที่นำเสนอมาข้างต้นมุ่งที่จะให้ความจริงทุกด้านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความชังและความเชื่อ ที่ถูกนำเข้าไปเชื่อมโยงอย่างขาดแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม เพื่อชี้ให้เกิดการเข้าใจผิดถึงอันตรายจากการบริโภคน้ำนม จนเกิดเป็นกระแสต่อต้าน อันไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการด้านสาธารณสุขของประเทศและยังเป็นผลเสียต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมนมในประเทศที่กำลังพัฒนาเข้าสู่ระบบสากล

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔


PR NEWS


  • บริการเรียนย้อนหลังออนไลน์ November 05, 2024

  • ประเภทของเอกสารในระบบมาตรฐาน GHPs / HACCP July 30, 2024

  • พัฒนากระบวนการปฏิบัติงานด้วยหลัก PDCA July 30, 2024

  • 5 เคล็ดลับเลือก Pest Control Operator (PCO) ให้ปัง May 17, 2024

  • รู้จักกับ Integrated Pest Management (IPM) Program ตัวช่วยยกรับการจัดการแมลงในโรงงานอาหาร May 16, 2024

  • SITEMAP

  • Program
    • Award
      • Ajinomoto – FoSTAT Award
    • Food Science and Technology Professional Standard
      • Certified Food Professional (CFoP)
      • มาตรฐานและคุณวุฒิวิชาชีพ
    • Conference and workshop
      • Food Innovation Asia Conference
      • Food Ingredients Asia Conference
    • Curriculum and scholarship
      • Curriculum Recognition
      • Agro-Industry Academic Council Association (AIAC)-Industry Academic Council Association (AIAC)Food Ingredients Asia Conference
    • FoSTAT – Nestlé Quiz Bowl (FNQB)
    • Food Innovation Contest (FIC)


  • Home
    • About Us
    • Committee
    • Gallery
  • Training
  • Communication
  • Membership
    • Membership drive
    • Career Center
  • Contact Us

  • เลขที่ 50 อาคารอมร ภูมิรัตน ชั้น 7 ห้อง 722 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

    02 9428 528 | 08 3902 3362

    pr@fostat.org

    สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT)

Copyright © 2016 FoSTAT. Developed by Sundae Solutions

Please wait...