โต๊ะทำงาน….ดรุณี
การคิดวิเคราะห์เหตุการณ์บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์
ปลาแซมมอน: ดีหรือแย่ กันแน่
ได้อ่านข้อมูลที่สื่อกันกระจาย เกี่ยวกับปลา Salmon (ถ้าจะอ่านให้ถูกต้องตามฝรั่ง จะอ่านว่า “แซมมอน” ทั้งๆที่สะกดว่า แซลมอน) ว่าชอบทานมากมาย แต่ต่อว่าอย่างมากมายว่า มีอันตรายจาก พยาธิ สารเคมีตกค้าง จากยาปฏิชีวนะ มีสารก่อมะเร็ง และยังเรื่องอื่นๆอีก
อ่านเสร็จ ก็ออกจะปลง ว่าเขียนให้เป็นข้อมูลที่กระจายให้คนอ่าน ทั้งๆที่ข้อมูลที่นำเสนอ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่เชื่อถือได้เลย ซึ่งข้อเท็จจริง คือ
ปลาแซมมอน จะต้องเลี้ยงในแหล่งน้ำทะเลที่เย็น อาทิ นอร์เวย์ สก๊อตแลนด์ ชิลี ซึ่งอุณหภูมิและความเค็มของน้ำ ช่วยควบคุมดูแลการเกิดของพยาธิ และเชื้อโรคต่างๆ ได้โดยธรรมชาติ
การเลี้ยง จะอยู่ใน cage ซึ่งอยู่ในน้ำทะเล ในปริมาณที่ปลาจะเติบโตได้เต็มที่ และมีคลื่นลม ทำให้น้ำทะเลไหลเวียนตลอดเวลา ดังนั้นโอกาสที่น้ำที่เลี้ยงเน่า หรือเสื่อมสภาพ จึงไม่มี ซึ่งจะต่างกับการเลี้ยงกุ้งในระบบบ่อ แบบของไทย หรือทั่วๆไป
การใช้ยาปฏิชีวนะ ก็มีการห้ามใช้มานานแล้ว แต่ละฟาร์มที่เลี้ยง ก็มีขนาดใหญ่โต จึงมีมาตรการและปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งคัด
การใช้สารเคมี จะมีบ้างเพื่อควบคุมโรค ที่อาจเกิดในระหว่างการเลี้ยง แต่ชนิดสารเคมี และปริมาณที่ใช้ อยู่ในเกณฑ์ที่สากลยอมรับ
ราคาปลาแซมมอน ลดลงมาก ไม่ใช่เพราะความปลอดภัยของเนื้อปลาลดลง แต่เป็นเพราะมีการผลิตในปริมาณมากขึ้น และวิธีการแล่ การเก็บรักษา การดูแลช่วงการขนส่ง มีผลต่อคุณภาพและราคาของเนื้อปลาที่ขาย
ส่วนเรื่องปริมาณกรดไขมันจำเป็น อาทิ โอเมกา-3 ที่กล่าวอ้างว่าลดลงถึง 3 เท่า หรือมีกรดไขมันอิ่มตัวเพิ่มขึ้นมากมาย ก็อยากเห็นผลวิเคราะห์ และห้องปฏิบัติการที่วิเคราะห์ เพื่อจะได้ช่วยประเมินอย่างวิทยาศาสตร์ ด้วยค่ะ แต่ในเบื้องต้น ข้อมูลนี้ ไม่เป็นความจริง
จึงขอนำเสนอข้อมูลนี้ เพื่อให้ผู้ที่บริโภคสื่อต่างๆ ได้เข้าใจกลไกที่เป็นเหตุและผล ที่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ จะได้ไม่ถูกหลอกลวงจากสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ ค่ะ