คุยกันใหญ่เลยเรื่องไขมันทรานส์ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ จึงขอสรุปประเด็นสำคัญและทางออกที่เราจะต้องปฏิบัติดังนี้
ไขมันทรานส์ (Trans Fat) พบได้ทั้งในอาหารจากธรรมชาติ เช่น ในน้ำนม ในไขมันสัตว์ แต่ไม่ได้สูงจนก่อให้เกิดโรค และได้จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partial hydrogenated fat) เพื่อให้ไขมันพืชที่มีลักษณะเหลว เปลี่ยนรูปเป็นไขมันที่อยู่ในลักษณะแข็ง เช่น มาการีน (เนยเทียม ) เนยขาว ครีมเทียม วิปครีม เพื่อประโยชน์ด้านความคงตัว การเพิ่มจุดเดือดของไขมัน และการสร้างรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์อาหารบางอย่าง เช่น ความกรอบของคุ้กกี้ ก็มาจากคุณสมบัติของไขมันทรานส์
ทีนี้ พอ อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีประกาศออกมาว่า ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับจากวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ก็ทำให้เราทุกคนทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคต้องปรับตัว โดยประกาศฉบับนี้ได้มีการหารือและเตรียมการมาประมาณ 3 ปีแล้ว ภายในระยะเวลา 180 วันที่กำหนดจึงเป็นช่วงของการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น full hydrogenated fat และผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคนิค oil blending กับน้ำมันปาล์ม แปลว่าเรายังคงมี มาการีน (เนยเทียม ) เนยขาว ครีมเทียม ใช้อยู่ แต่เป็นสูตรที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบอื่น ซึ่งจะมีต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่มีผลต่อราคาผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาด และแน่นอนว่าปลอดภัยกว่า การห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนนี้ มีผลโดยอัตโนมัติให้ปริมาณไขมันทรานส์ไม่เกินค่าความเสี่ยงที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
จากการศึกษาผลของเนยเทียมแบบใหม่นี้ต่อคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ พบว่าแทบจะไม่มีความแตกต่างจากของเดิมเลย ผู้ประกอบการอาหารจึงสามารถนำมาใช้ทดแทนเนยเทียมแบบเก่าได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างบนฉลากว่าไม่มีไขมันทรานส์ และไม่ได้ห้ามให้มีไขมันทรานส์ในอาหาร เพราะสามารถพบได้จากส่วนประกอบอาหารในธรรมชาติอยู่แล้ว สำหรับผู้บริโภค ก็มีหน้าที่ต้องอ่านฉลากให้ดีก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อจำกัดปริมาณไขมันชนิดต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับตัวเองกันค่ะ