โดย ดร.อรชร เมฆเกิดชู, ผศ.จิราภรณ์ สิริสัณห์ และ รศ.ดร.ประพันธ์ ปิ่นศิโรดม
คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ฉลากอาหารถือเป็นสิ่งที่มีความสําคัญต่อการสื่อสารข้อมูลของผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภคอย่างเราๆ กล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของอาหารชนิดนั้นๆ ก่อนที่เราจะเลือกบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กทารกหรือผู้สูงอายุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดที่มีภาชนะบรรจุเพื่อการจำหน่ายจำเป็นต้องมีการแสดงฉลากอาหารและต้องแสดงข้อความบนฉลากนั้นเป็นภาษาไทย โดยตัวฉลากอาหารเองต้องมีข้อมูลสำคัญหลักๆ ได้แก่ ชื่ออาหาร, เครื่องหมาย อย., ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ, ปริมาณสุทธิ และวันที่ผลิต/วันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนของอาหาร นอกจากนี้ยังมีส่วนของรายละเอียดอื่นๆ อีก ได้แก่ ส่วนประกอบที่สำคัญ, ข้อมูลสําหรับผู้แพ้อาหาร โดยอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อาจเป็นตัวอาหารเอง หรือเป็นส่วนประกอบหรืออาจปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตก็ได้, ชื่อวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ เช่น ใช้วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร (โมโนโซเดียมกลูตาเมต), การแต่งกลิ่นรสในอาหาร เช่น แต่งกลิ่นธรรมชาติ, คําเตือน, คำแนะนำในการเก็บรักษา, วิธีปรุงเพื่อรับประทาน เป็นต้น
หากนำข้อมูลบนฉลากอาหารมาแบ่งกลุ่มตามวัตถุประสงค์ จะได้ทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ (1) ข้อมูลบนฉลากเพื่อความปลอดภัย เช่น วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีการปรุง คำเตือนต่างๆ (2) ข้อมูลด้านความคุ้มค่า เช่น ส่วนประกอบและและปริมาณอาหาร (3) ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต เครื่องหมาย อย. และ (4) ข้อมูลเพื่อการโฆษณา เช่น รูปภาพหรือข้อความกล่าวอ้าง
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เราพบเห็นบ่อยครั้งบนฉลากอาหาร คือ สัญลักษณ์หรือตรามาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการสื่อสารและมีความหมายแตกต่างกันออกไป โดยมักได้รับจากหน่วยงานของราชการ แบ่งเป็น
(1) ตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร เช่น ตราสัญลักษณ์เครื่องหมาย อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่มีเลขเอกลักษณ์ประจำตัวผลิตภัณฑ์ 13 หลักหรือที่เรียกว่าเลขสารบบอาหาร, เครื่องหมายอาหารปลอดภัย จากกระทรวงสาธารณสุข รับรองคุณภาพทั้งอาหารสดและอาหารแปรรูป พร้อมตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ เช่น สารพิษตกค้าง, ตรามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) รับรองโดยกระทรวงอุตสาหกรรม,เครื่องหมายมาตรฐาน Q และสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ รับรองโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรอาหาร ตั้งแต่ระดับเพาะปลูกจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงแหล่งปลูกที่มีระบบประกันคุณภาพแบบ GMP (Good Manufacturing Practice หรือหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร) เป็นต้น
(2) ตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อาทิเช่น สัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มเดียวกัน, เครื่องหมายรับรองคุณภาพ Thailand’s Brand ออกโดยกรมส่งเสริมการส่งออกแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั่วโลกต่อสินค้าไทย เครื่องหมายมาตรฐานอาหารฮาลาล ออกโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการปรุงตามหลักศาสนา เพื่อการรับประกันให้ผู้บริโภคชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้
(3) ตราสัญลักษณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบการจัดการหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องหมายมาตรฐาน ISO ให้การรับรองในด้านระบบบริหารคุณภาพและสิ่งแวดล้อม, ฉลากเขียว (Green Label) ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครื่องหมายอื่นที่ปรากฏบนฉลากอาหารที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการจัดขึ้น ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ใช้เพื่อการโฆษณา อาทิเช่น เชลล์ชวนชิม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าทุกครั้งก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร อย่าลืมสังเกตข้อความและสัญลักษณ์ต่างๆ บนฉลาก จะช่วยให้เราในฐานะผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารได้อย่างเหมาะสมและได้รับประโยชน์สูงสุด