พูดถึง COVID-19 ใครๆ ก็กลัวและพยายามหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีคนเยอะๆ บางคนเลือกสั่งอาหารมากินที่บ้าน ผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ปรุงอาหาร ต้องรักษาความสะอาดและสุขลักษณะ รวมถึงต้องป้องกันการปนเปื้อนของโรค COVID-19 และเชื้อก่อโรคอื่นๆ ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายผ่านอาหารที่จำหน่ายในร้านของตนเอง
ผู้สัมผัสอาหาร คือ ผู้เตรียม ปรุงประกอบ จำหน่ายและเสิร์ฟอาหาร รวมถึงผู้ล้างและเก็บภาชนะอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหาร ปัจจุบันต้องรวมผู้จัดส่งอาหารด้วย ทั้งหมด เป็นคนที่จะทำให้อาหารสะอาดหรือมีการปนเปื้อนได้ อาจเป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายของเชื้อโรค สารเคมี วัตถุปลอมปนต่างๆ ไปสู่ผู้บริโภคได้จึงต้องดูแลสุขภาพและสุขลักษณะของผู้ที่ปฏิบัติงานให้ แข็งแรง ไม่เป็นโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้บริโภค
หากผู้สัมผัสอาหารมีอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ หรือทางผิวหนัง ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางการสัมผัส ทางน้ำมูก น้ำลาย ไปสู่ผู้บริโภคได้ เช่น COVID-19 โรคอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ วัณโรค ไข้หวัด และไวรัสตับอักเสบชนิดเอ หรือ เป็นพาหะนำโรค แม้ไม่แสดงอาการ อาจอยู่ในระยะแพร่โรค หากมีพฤติกรรมหรือการปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้องในขณะปรุง ประกอบ และจำหน่ายอาหาร เช่น ไอ จาม รดอาหาร การจับต้องสิ่งสกปรก ขยะ วัตถุมีพิษ หรือแม่กระทั้งหยิบจับเงิน แล้วใช้มือนั้นมาหยิบจับอาหารโดยตรง โดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ก็อาจทำให้อาหารถูกปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรก และเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้
ผู้สัมผัสอาหารต้องสังเกตสุขภาพของตนเอง ควรงดการสัมผัสอาหาร ถ้ามีอาการผิดปกติ ดังนี้
➢ ปวดศีรษะ ปวดโพรงจมูก
➢ เจ็บคอ เจ็บหน้าอก
➢ มีไข้
➢ เป็นหวัด ไอ จาม
➢ ตัวเหลือง ตาเหลือง
➢ ปวดท้อง ท้องเสีย
➢ คลื่นไส้ อาเจียน
การเตรียมตัวก่อนปรุงและจำหน่ายอาหาร
- แต่งกายให้สะอาด
- สวมเสื้อผ้าสะอาด
- ใช้ผ้ากันเปื้อนแบบเต็มตัวที่สะอาด และต้องซักผ้ากันเปื้อนทุกวัน
- สวมหมวกคลุมผม หรือเน็ทคลุมผม หรือรวบผมให้เรียบร้อย
- สวมรองเท้าหุ้มส้น เพื่อป้องกันการกระเด็นของน้ำหรือสิ่งสกปรกจากพื้นในขณะเดิน
- ไม่สวมเครื่องประดับที่ข้อมือ และนิ้วมือในขณะปฏิบัติงาน
-
รักษามือให้สะอาด
- ตัดเล็บให้สั้น และไม่ทาสีเล็บ
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่ทุกครั้ง โดยต้องล้างให้สะอาดทุกส่วน ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ซอกนิ้ว ปลายเล็บ ก่อนปรุงอาหาร และหลังจากที่มีการปนเปื้อน เช่น หลังจากการใช้ห้องส้วม หยิบผ้าขี้ริ้ว การแกะ เกา ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การจับถังขยะ และปิดปาก-จมูกขณะไอ จาม ควรปล่อยให้มือแห้งเอง หรือใช้กระดาษเช็ดให้แห้ง ห้ามเช็ดมือกับเสื้อผ้า ผ้ากันเปื้อน หรือผ้าที่ไม่สะอาด
- หากมีบาดแผลที่มือ ต้องใส่ยาฆ่าเชื้อโรค และใช้พลาสเตอร์กันน้ำ ควรงดปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสกับอาหาร หรือสวมถุงมือ
- ต้องใช้ผ้าสะอาด หรือกระดาษ ปิดปากและจมูกเมื่อไอ หรือจาม ทุกครั้ง ควรอยู่ห่างจากอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว และควรล้างมือให้สะอาด
- ไม่พูดคุยผ่านอาหาร หรือใช้ อุปกรณ์ป้องกันน้ำลาย เช่น หน้ากาก
- ไม่สูบบุรี่ ระหว่างปฏิบัติงาน
- ไม่แคะ แกะ เกา ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือต้องล้างมือให้สะอาดภายหลังการแคะ แกะ เกา ก่อนสัมผัสอาหารและภาชนะอีกครั้ง
- ต้องใช้อุปกรณ์ที่สะอาด หยิบ หรือตักอาหาร ที่ปรุงเสร็จแล้ว ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรง หรือใช้ถุงมือในการหยิบจับอาหาร โดยการใช้ถุงมือควรปฏิบัติดังนี้
- เลือกใช้ถุงมือให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน
- ล้างมือให้สะอาด ก่อนสวมถุงมือทุกครั้ง
- เปลี่ยนถุงมือหากมีรอยฉีกขาด หรือเปื้อนสิ่งสกปรก
- ควรเปลี่ยนถุงมือทุก 4 ชั่วโมง
- แยกใช้ถุงมือ และภาชนะอุปกรณ์ระหว่างอาหารดิบ กับอาหารสุก
- เมื่อใช้เสร็จแล้วให้ดึงถุงมือออก โดยการดึงจากข้อมือไม่ให้มือสัมผัสกับถุงมือด้านนอก
- ไม่ควรนำถุงมือไปล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
- ต้องไม่ให้นิ้วมือสัมผัสภาชนะส่วนที่จะสัมผัสอาหาร และ มีช้อนกลางทุกครั้ง
- ผู้จัดส่งอาหารควรใส่หน้ากากและทำความสะอาดมือก่อนหยิบอาหารทุกครั้ง
หากเราร่วมมือกันรักษาความสะอาด และหมั่นสังเกตอาการป่วยของตนเองเพื่อการจัดการที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค COVID -19 ได้
อ้างอิง
- คู่มือและเอกสาร : การอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร, กรมอนามัย,
http://foodsan.anamai.moph.go.th/more_news.php?cid=245&filename=Law_61
- สุขาภบาลกับการประกอบอาหาร, กองสุขาภิบาลอาหาร, สำนักอนามัย, กรุงเทพมหานคร
http://www.farmdev.doae.go.th/data/Agricultural%20products/03202013/สุขาภิบาลกับการประกอบอาหาร(บังอร%20นาตาดี%20สำนักอนามัย).pdf