การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร นอกจากโรงงานจะเป็นสถานที่ผลิตอาหารแล้ว โรงงานยังเป็นปราการด่านสำคัญในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคของเราจากอันตรายจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย นอกจากนี้ในการก่อตั้งโรงงานขึ้นมาเชื่อได้ว่าผู้ประกอบการทุกท่านต่างก็มีแผนการระยะยาวในการดำเนินธุรกิจนี้อย่างแน่นอน แต่หากเราเลือกทำเลที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระยะยาวเช่นกัน
กรณีตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการท่านหนึ่งลงทุนก่อตั้งโรงงานจากพื้นที่ของตนเอง (ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอาคารพาณิชย์เก่า) ที่ได้รับเป็นมรดกตกทอด โดยคิดว่าจะปรับโครงสร้างภายในให้เป็นโรงงานผลิตอาหารขนาดเล็กได้ พื้นที่ดังกล่าวอยู่บริเวณโซนพื้นที่เขตชุมชน มีพื้นที่ไม่มาก มีผนังติดกับที่อยู่อาศัยของเพื่อนบ้าน และมีคลองขนาดเล็กบริเวณใกล้เคียง ทำให้ต้องประสบกับปัญหาในเรื่องการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร พื้นที่ที่จำกัดทำให้การวางเเบบแปลนโรงงานทำได้ยาก มักพบหนูและแมลงที่มาจากแหล่งน้ำใกล้เคียง จนเกิดการปนเปื้อนสู่ผลิตภัณฑ์ พบปัญหาการจอดรถของคนในชุมชน และยังพบว่าสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้านมารื้อถุงขยะเศษอาหารบ่อยครั้ง จนกลายเป็นปัญหากระทบกระทั่งกัน
แล้วการเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานที่เหมาะสมนั้นจะต้องมีอะไรบ้างที่ควรดู และอะไรบ้างที่ควรระวัง เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกท่านคงไม่มีใครอยากเริ่มต้นโดยการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกอย่างแน่นอน
สิ่งที่เราควรจะพิจารณาในการเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานผลิตอาหารแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
เขตพื้นที่หรือ โซน ก่อนอื่นเลยผู้ประกอบการที่กำลังเล็งหาทำเลที่ตั้งโรงงานที่เหมาะสมควรจะทำการศึกษาดูให้ดีก่อนว่าบริเวณที่ท่านกำลังจะเลือกสรรนั้น อยู่ในโซนพื้นที่อะไร (โซนสีม่วง โซนสีเขียว หรืออื่นๆ) โดยแนะนำให้ท่านสอบถามข้อมูลโซนพื้นที่ต่างๆกับทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองหรือท้องถิ่น ของแต่ละพื้นที่เพื่อความมั่นใจเรื่องข้อมูลและข้อกฎหมายต่างๆ
ขนาดของพื้นที่ เมื่อพิจารณาเรื่องโซนพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ก็มาพิจารณาดูในเรื่องของ ขนาดพื้นที่ที่จะตั้งโรงงานว่ามีขนาดเหมาะสมหรือไม่ ไม่เล็กจนเกินไป และไม่ใหญ่จนเกินตัว สามารถวางเเผนแบบแปลนได้อย่างเหมาะสมเเละครบครัน เมื่อท่านได้พื้นที่ที่ใช่และขนาดที่เหมาะสมแล้วถัดไปก็ไปดูต่อกันในเรื่อง สภาพแวดล้อมรอบๆ ทำเลที่ตั้งกันได้เลย
สภาพแวดล้อมรอบๆ ทำเลที่ตั้ง ในการเลือกทำเลที่ตั้งนั้น เราจำเป็นต้องดูสภาพแวดล้อมบริเวณรอบๆทำเลที่ตั้งให้ดี ว่า ไม่มีการสะสมของสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว ไม่มีการสะสมของสิ่งปฏิกูล ไม่มีฝุ่นหรือควันที่มากจนผิดปกติ ไม่มีวัตถุอันตราย ไม่มีคอกปศุสัตว์หรือสถานเลี้ยงสัตว์ ไม่มีน้ำขังแฉะและสกปรก สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่โอกาสในการเกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนอันตรายในอาหาร (ทางกายภาพ เคมี หรือชีวภาพ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://fostat.org/communication/FSCM053/ ) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านคงคิดว่าเเล้วมันจะไปหาที่แบบนี้ได้ตรงไหน แต่อย่างกังวลจนเกินไป หากเราไม่สามารถเลี่ยงหรือหาสภาพทำเลที่ตั้งที่ปราศจากสภาพแวดล้อมทั้งหมดนี้ได้ สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมแทน
กิจกรรมของท้องถิ่น อีกหนึ่งส่วนที่ต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก็คือเรื่องของกิจกรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ว่าช่วงไหนหรือเวลาใดที่มีการจัดกิจกรรม งานประเพณี หรืออื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของโรงงานในอนาคตได้
Tips:
ถึงแม้ว่า การเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างมากในการเริ่มต้นการทำโรงงาน หรือทำธุรกิจอาหารก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปพร้อมๆกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การออกแบบแปลนโรงงาน (ข้อกฎหมาย วิธีการผลิต ชนิดเครื่องจักรและอื่นๆ) หลักการด้านสุขลักษณะในโรงงาน ระบบสาธารณูปโภค และอีกมากมาย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทำเลที่ตั้งที่ดี และเหมาะสม ก็เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรกที่จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี โอกาสหน้าจะมาทำความเข้าใจเรื่องสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาก่อนการสร้างโรงงานผลิต จะมีเรื่องอะไรบ้าง คอยติดตามกันได้เลย ส่วนใครที่มีคำถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมสามารถสอบถามข้อมูลแบบละเอียดยิบมายัง FoSTAT ได้เลยที่ https://www.facebook.com/fostat.fanpage