ปัญหาการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่ควรจะได้รับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และเริ่มมีการรณรงค์สร้างความตระหนักรับรู้ให้กับประชาชนถึงอันตรายจากการบริโภคอาหารโซเดียมสูง แม้ว่าโซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การได้รับโซเดียมในปริมาณที่เกินความต้องการเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่อชีวิต เช่น ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น
โดยปกติแล้วร่างกายคนเราต้องการโซเดียมประมาณวันละ 1500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือประมาณ ¾ ช้อนชา เพื่อใช้สำหรับการรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ปรับสมดุล กรด-เบส และส่งสัญญาณกระแสประสาทเพื่อกระตุ้นการทำงานกล้ามเนื้อ แต่จากผลการสำรวจที่ผ่านมาในประเทศต่างๆทั่วโลก พบว่าประชากรส่วนใหญ่มีการบริโภคโซเดียมมากเกินกว่าความต้องการของร่างกายถึง 3-4 เท่าตัว ซึ่งถือว่าอยู่ในสถานการณ์อันตราย และถ้าไม่ได้รับการควบคุมอาจทำให้แนวโน้มการบริโภคโซเดียมเพิ่มมากขึ้นไปอีกในอนาคต สำหรับประเทศไทยพบว่าการบริโภคโซเดียมของประชาชนเกินกว่าปริมาณที่กำหนดถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในประเทศไทยมีสูงถึงประมาณ 17% หรือ 11 ล้านคน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลพิเศษทั้งการล้างไต และการปลูกถ่ายไต แหล่งที่มาของโซเดียมส่วนใหญ่ที่พบมาจาก กระบวนการปรุงอาหาร , อาหารสำเร็จรูป , เครื่องปรุง , อาหารหมักดอง และจากการศึกษาปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารที่จำหน่ายข้างทางหรือสตรีทฟู้ด โดย ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักวิจัยเชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า กับข้าวและอาหารจานเดียวส่วนใหญ่มีโซเดียมเกินกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อถุงหรือกล่องที่จำหน่าย ซึ่งอยู่ในระดับความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ ประชาชนจึงควรปรับพฤติกรรมการบริโภคหรือเตรียมอาหารด้วยตนเองในบางมื้อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมมากเกินไป
องค์การอนามัยโลกเห็นถึงความสำคัญและได้ดำเนินการในเรื่องการลดการบริโภคโซเดียม โดยกำหนดให้ภายในปี 2568 จะต้องลดการบริโภคโซเดียมของประชากรให้ได้ ประมาณ 2,000 -3,000 มิลลิกรัมต่อวัน และขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ให้ร่วมรณรงค์ให้ประชากรบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อคนต่อวัน หรือโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม เพื่อลดอัตราของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ และยังได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากร ดังนี้
ประเทศไทยเองก็ตื่นตัวในการขับเคลื่อนประเด็นนี้เช่นกัน โดยในปี 2560 มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายลดเกลือและโซเดียมแห่งชาติ โดยมีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) , สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล , สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , สมาคมโรคไตแห่งประ เทศไทย , เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนการลดการบริโภคโซเดียมในประเทศ โดยมีทิศทางการดำเนินงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อช่วยลดการบริโภคเค็ม , การปรับฉลากอาหารเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความรู้ ความตื่นตัวซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมและไปสู่การที่ประชาชนลดการบริโภคโซเดียมให้เพียงพอหรือเท่ากับปริมาณที่ต้องการของร่างกาย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (FoSTAT) ได้ร่วมมือกับเครือข่ายลดบริโภคเค็มและมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินโครงการวิจัย Food Safety Forum นำความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางอาหารมาใช้ในการลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป โครงการปีนี้มี 8 ผลิตภัณฑ์ สามารถลดปริมาณโซเดียม ได้ร้อยละ 22 – 65 มี 6 ผลิตภัณฑ์สามารถกล่าวอ้างทางโภชนาการได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารลดเกลือโซเดียม ขณะที่อีก 2 ผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณเกลือได้ไม่ถึงร้อยละ 25 เนื่องจากจะส่งผลต่ออายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้โครงการยังมีการจัดสัมมนา 2 ครั้งเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ สู่นักวิทยาศาสตร์อาหารรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ ผ่านกิจกรรมของโครงการซึ่งมีการในกรุงเทพ 1 ครั้งและที่จัดหวัดเชียงใหม่อีก 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมงานรวมทั้งสิ้น 255 คน และมีผู้รับข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ของโครงการกว่า 10,000 ราย เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของประชาชน
อ้างอิง :
https://www.ryt9.com/s/prg/2864941
https://www.posttoday.com/pr/559441
https://www.thaipost.net/main/detail/14511
https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_1395077
http://www.thaihealth.or.th/Content/43763-เตือนสตรีทฟู้ด-อาหารจานเดียวโซเดียมสูง.html